มะเร็งโพรงจมูกและไซนัสถือว่าพบได้น้อยเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมะเร็งศีรษะและลำคอ โดยแต่ละปีจะพบประมาณ 0.5–1.0 ต่อแสนคน ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุมาก มากกว่า 50-60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยทั่วไปจัดว่ามะเร็งโพรงจมูกและไซนัสเป็นคนละประเภทกับมะเร็งโพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal cancer)
มะเร็งโพรงจมูกและไซนัสมีหลายชนิดมาก และมีการดำเนินโรคต่างกันในแต่ละชนิด โดยชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ squamous cell carcinoma (SCC) ส่วนชนิดอื่นๆ ที่พบได้ เช่น adenocarcinoma, adenoid cystic carcinoma, olfactory neuroblastoma, lymphoma, sinonasal undifferentiated carcinoma, melanoma, sarcoma เป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งโพรงจมูกและไซนัสเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่ รวมทั้งการสัมผัสควันจากอุตสาหกรรม ฝุ่นไม้ กระบวนการผลิตนิกเกิล และการฟอกหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ Human papilloma virus (HPV) กับการเกิดมะเร็งโพรงจมูกและไซนัส
อาการที่พบได้บ่อย คือ อาการคัดจมูก โดยเฉพาะอาการคัดจมูกที่เป็นข้างเดียวและมีอาการคัดตลอดเวลา น้ำมูกไหลซึ่งอาจมีเลือดปนหรือมีน้ำมูกไหลลงคอ เลือดกำเดาไหล ปวดใบหน้า การรับกลิ่นลดลง เป็นต้น ในรายที่มะเร็งลุกลามมากขึ้น อาจมีอาการชาบริเวณใบหน้า การมองเห็นลดลงหรือมองเห็นภาพซ้อน ตาโปน น้ำตาไหล มีก้อนที่บริเวณใบหน้า จมูก หรือเพดานปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เป็นต้น อย่างไรก็ตามในระยะเริ่มต้นผู้ป่วยอาจมีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการเลย ทำให้การวินิจฉัยโรคทำได้ช้า
มะเร็งโพรงจมูกและไซนัสสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจร่างกายและการส่องกล้องประเมินโพรงจมูก ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจนี้บางครั้งสามารถทำได้ที่ตึกผู้ป่วยนอก (OPD) ขณะส่องกล้องผู้ป่วย แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำในห้องผ่าตัด นอกจากนี้การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยประเมินขนาดและระยะของโรค
การรักษาอาจประกอบด้วย
1. การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออก สามารถทำได้โดยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือผ่าตัดเปิดบริเวณใบหน้า
2. การฉายรังสี ทำให้ก้อนมะเร็งลดขนาดลงก่อนการผ่าตัด หรือทำลายมะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด หรือในบางกรณีอาจใช้เป็นการรักษาหลัก
3. การให้เคมีบำบัด
โดยการเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็งขณะที่วินิจฉัย การแพร่กระจาย และสภาพสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสัมผัสควันบุหรี่ และลดการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสัมผัสในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี
พญ. กวิตา อธิภาส
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา สาขาวิชาโรคจมูกและภูมิแพ้
สถานวิทยามะเร็งศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วันที่อัพเดทข้อมูล : 15 ม.ค. 2568
อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 13 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700