“สถานวิทยามะเร็งศิริราช”

เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้ป่วยมะเร็ง

   สถานวิทยามะเร็งศิริราช เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักคือ จัดเก็บข้อมูลสถิติผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมดในระบบ Siriraj Cancer Registry อย่างเป็นระบบสากล และทํางานแบบ “สหสาขาวิชา” ด้วยความร่วมมือจากทุกภาควิชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทํางานด้านโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา งานวิจัย บริการผู้ป่วย จัดกิจกรรมให้ความรู้ภาคประชาชน ตลอดจนจัดงานประชุมวิชาการทั้งระดับชาติ และนานาชาติ

จุดเริ่มต้น
   สถานวิทยามะเร็งศิริราช ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชในขณะนั้นได้ดําริที่จะจัดตั้งแทนสถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นหน่วยงานอย่างเป็นทางการในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและเทียบเท่าภาควิชา จึงได้มอบหมายให้ ศ.เกียรติคุณ นพ.ไพรัช เทพมงคล เป็นผู้ดําเนินการจัดทําหลักการ และเหตุผลในการจัดตั้งสถานวิทยามะเร็งศิริราชเสนอต่อที่ประชุมกรรมการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล และที่ประชุมคณะกรรมการอุดมศึกษาทบวงมหาวิทยาลัย และได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง “สถานวิทยามะเร็งศิริราช” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบัน
   • ทูเมอร์คลินิก ให้บริการทุกวันพฤหัสบดี (ยกเว้นวันหยุด นักขัตฤกษ์) เวลา 13.00-16.00 น. ณ ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 7 ซึ่งเป็นคลินิกที่มีทีมแพทย์จากสหสาขาวิชาร่วมกันวางแผนการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด
   • Siriraj Cancer Registry จัดเก็บข้อมูลทะเบียนมะเร็งผู้ป่วยระดับโรงพยาบาล (Hospital-based Cancer Registry โดยมีข้อมูล Social data ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วย ข้อมูลการวินิจฉัย/การรักษา ได้แก่ primary site, histological, staging, treatment และข้อมูลสภาพปัจจุบันของผู้ป่วยได้แก่ recurrence, metastasis, Survival และ dead เพื่อใช้ทําการวิจัยและรายงานประจําปี (Hospita-based Cancer Registry) โดยดําเนินการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 – ปัจจุบัน
   • งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เป็นศูนย์ประสานงานความร่วมมือ และสนับสนุนการวิจัยที่เน้นความร่วมมือจากคณาจารย์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ในลักษณะสหสาขาวิชา (Multidisciplinary) ทั้งหมดของโรคมะเร็ง
   • ด้านการศึกษา รับผิดชอบ 3 รายวิชา ใน 2 หลักสูตรได้แก่
  1. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    - รายวิชา ศรสว 472 การให้รหัสโรคและการจัดการสารสนเทศเวชระเบียน
    - รายวิชา ศรสว 672 การให้รหัสโรคและการจัดการสารสนเทศเวชระเบียน
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชระเบียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    - รายวิชา สมวบ 359 ฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเวชระเบียน
    - รายวิชา ศรสว 452 การใช้รหัสโรคเเละสารสนเทศเวชระเบียน
   • ด้านบริการวิชาการมีกลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรทางการแพทย์
    - หลักสูตรอบรมระยะสั้น เรื่อง เทคนิคการให้รหัสโรค ICD-0 ฉบับมืออาชีพ ซึ่งจัดเป็นประจําทุกปี
    - กิจกรรมวิชาการต่างๆ ด้านมะเร็งที่เป็นความร่วมมือของสหสาขาวิชา ได้แก่ กิจกรรม Academic Tumor Confererce กลุ่มมะเร็ง จํานวน 7 กลุ่มคือ มะเร็งสมอง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งนรีเวช มะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งจัดเป็นประจําทุกเดือน
    - กิจกรรม Tumor Board TeleConference ร่วมกับ Oregon Health & Science University (OHSU) เป็นต้น
    - งานประชุมวิชาการทั้งระดับชาติ และนานาชาติ

   นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมภาคประชาชน กลุ่มเป้าหมายคือผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติตลอดจนผู้สนใจทั่วไป โดยจะมีการจัดงานให้ความรู้แก่ประชาชนทั้งภายใน และภายนอกคณะฯ เช่น นิทรรศการสัปดาห์วันมะเร็งโลก จัดท่าสื่อความรู้โรคมะเร็งในรูปแบบ Infographic เพื่อเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนแชร์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งจากรายการต่างๆ ของ ม.มหิดล ผ่านทางสื่อที่มี เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ตลอดจนกลุ่มไลน์ ของหน่วยงาน


บทบาทของสถานวิทยามะเร็งศิริราชในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
   ทูเมอร์คลินิก ถือเป็นคลินิกที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างทีมแพทย์สหสาขาวิชาในการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคมะเร็งซับซ้อน ยากเกินกว่าที่แพทย์เจ้าของไข้ท่านเดียวจะทําการตัดสินใจแนวทางการรักษาได้เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายของทูเมอร์คลินิกคือ “ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยวิธีการใดก่อนหลังจึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด” และหน่วยงานมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ ให้กําลังใจต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง และญาติ ตลอดจนการส่งต่อความรู้ด้านโรคมะเร็งที่เป็นประโยชน์ และถูกต้อง ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เพื่อเป็นอีกทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนญาติซึ่งทําหน้าที่ดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพและกําลังใจที่ดี โดยขอยกตัวอย่าง 2 โครงการ คือ
   - โครงการ “ทูเมอร์คลินิกครบวงจร” เป็นโครงการที่ติดตามผู้ป่วยให้มาเข้ารับการรักษาตามแผนการรักษาที่แพทย์ได้วางไว้ ตลอดจนรับฟังปัญหาต่างๆที่ผู้ป่วยพบ และหาแนวทางแก้ไข ตลอดจนประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ครบทุกขั้นตอนการวางแผนการรักษาของทีมแพทย์
   - โครงการจัดตั้ง “Si-BDMS Molecular Tumor Board Teleconference” เป็นโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างดําเนินการ โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นโครงการบูรณาการที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งภายใน และภายนอกคณะฯ โดยเบื้องต้นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จะร่วมกับโรงพยาบาลวัฒโนสถในเครือของ BDMS และ Oregon Health & Science University (OHSU) ในการดําเนินการจัดตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้านอณูพันธุศาสตร์ เพื่อร่วมกันระดมความคิดในการให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในรายที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก อันจะเป็นมาตรฐานการรักษาใหม่ที่สําคัญในอนาคต

ความพร้อม ณ วันนี้
   สถานวิทยามะเร็งศิริราชได้รับความร่วมมือจากภาควิชา/หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการทํางานร่วมกันเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาในทุกพันธกิจ ซึ่งความสําเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือด้วยดีตลอดมา และปัจจุบันมีบุคลากรสายสนับสนุนที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาจํานวน 20 คน ในการปฏิบัติงานตามพันธกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
   หน่วยงานได้รับรางวัลจากโครงการติดดาวประเภทหน่วยงานดีเด่นดาวทองในปี 2558 รางวัลหน่วยงานดีเด่นติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2559-2560 และได้รับนวัตกรรมดีเด่นด้านแนวคิด Lean ประเภททีมสหสาขาประจําปี 2559 เรื่องระบบพัฒนาความรู้ผู้ให้รหัสโรคและรหัสหัตถการ (SRCA e-Coding) พร้อมได้ไปจดทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนบุคลากรได้รับรางวัลบุคลากรตัวอย่างในวันวัฒนธรรมศิริราชเป็นประจําทุกปี


การพัฒนาต่อไปในอนาคต
   สถานวิทยามะเร็งศิริราชมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแนวทางการให้บริการ วิจัยค้นคว้า และการเรียนการสอน ให้ก้าวหน้าทันสมัย และมีประสิทธิภาพ โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มอบหมายให้สถานวิทยามะเร็งศิริราชเป็นผู้ประสานงานเพื่อจัดตั้ง Siriraj Excellent Cancer Center หรือโครงการบูรณาการความเป็นเลิศในการดูแลรักษา และวิจัยผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและความสามารถของบุคลากรที่ดูแลรักษา และวิจัยผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอยู่ และมีความปรารถนาที่จะสร้างมาตรฐานการบริการให้เทียบเท่าสถาบันชั้นนําในระดับสากล เช่น MD Anderson Cancer Center ซึ่งปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นหนึ่งใน Sister Institute ของ MD Anderson Cancer Center อยู่ด้วยแล้ว ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ รวมถึงความตั้งใจของหลายภาคส่วนจะเป็นแรงผลักดันไปสู่การเกิด Siriraj Excellent Cancer Center ในอนาคตอันใกล้นี้

ประชาชนจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนได้อย่างไร
   ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย (> 80,000 ราย/ปี) โดยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 1 แสนคน/ปี ทั้งยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ในทุกๆปี สําหรับในประเทศไทยยังไม่เคยมีการสร้างฐานข้อมูลระดับโมเลกุลเพื่อแสดงสาเหตุการเกิดมะเร็งเชิงพันธุกรรมของประชากรไทย ทําให้แพทย์มีข้อจํากัดในการเลือกชนิดยาให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งไทยสูงสุด นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐหรือสิทธิเบิกจ่ายตรง (กรมบัญชีกลาง) เข้าถึงยาต้านมะเร็งได้เพียง 30% (มีสิทธิเข้าถึงยาเพียง 60 ชนิด) ทําให้ขาดโอกาสในการรักษามะเร็งด้วยยาที่ทันสมัย

   คนไทยทุกคนมีส่วนในการช่วยให้คนไทยห่างไกลจากโรคมะเร็ง และผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งได้โดยการบริจาคเข้า กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยําในโรคมะเร็ง (D3906) เพื่อสนับสนุนการวิจัยในการต่อสู้กับมะเร็งให้หายขาด และต่อความหวังให้ผู้ป่วยมะเร็ง ได้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ตลอดจนสามารถช่วยสนับสนุนการจัดกิจกรรมและโครงการ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้มีความตระหนัก มีความรู้ในการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ที่สําคัญคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งและญาติให้มีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็ง และมีความหวังในการใช้ชีวิตได้ที่ กองทุนสถานวิทยามะเร็งศิริราช (D2350) ในศิริราชมูลนิธิ

   สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถานวิทยามะเร็งศิริราช โทร. 0 2419 4471-3 ในวันและเวลาราชการ


สถานวิทยามะเร็งศิริราช

อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 13 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700