มะเร็งเต้านม



   มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามวิวัฒนาการในการตรวจคัดกรองและการรักษามะเร็งเต้านมก็มีการพัฒนาไปมาก ทำให้ผลการรักษามะเร็งเต้านมได้ผลค่อนข้างดีมาก จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคน ควรจะให้ความสนใจตัวเอง

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
   สาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ได้แก่ เพศหญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่, เพศหญิงที่รับประทานฮอร์โมนทดแทนหลังหมดประจำเดือน และผู้ป่วยที่ประวัติเคยมีเนื้องอกของเต้านมบางชนิด

อาการ/อาการแสดง
   ผู้ป่วยมะเร็เต้านมส่วนใหญ่จะมีอาการก้อนที่เต้านม หรืออาจมีอาการก้อนที่รักแร้ แผลบริเวณหัวนม อาจมีเลือด หรือมีน้ำใส ออกจากหัวนมได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำแมมโมแกรม และ/หรืออัลตร้าซาวด์มากขึ้น ดังนั้นจะมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มาพบแพทย์ในขณะที่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบมะเร็งจากการตรวจคัดกรองโรค

การวินิจฉัย
   การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม จะใช้อาการแสดงร่วมกับการตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การทำแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวด์เป็นหลัก ในบางกรณีอาจทำการตรวจทางรังสีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า MRI และสุดท้ายคือการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจหามะเร็งในก้อนหรือตำแหน่งที่สงสัย

การรักษา
   การรักษามะเร็งเต้านม มักจะประกอบด้วย การรักษาหลายๆ รูปแบบร่วมกัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การใช้ยาต้านฮอร์โมน การใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า การรักษาด้วยการฉายรังสี ทั้งนี้แพทย์หลายๆ คน จากหลายๆ สาขา จะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละรายไป ตามระยะของโรค และชนิดของเซลล์มะเร็งเต้านมที่แตกต่างกันไป

วิธีป้องกัน
   การป้องกันที่ดีที่สุดของมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน คือการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พบมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพราะจะสามารถรักษาหายได้หากเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้น คำแนะนำคือ สำหรับผู้หญิงคือการตวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจแมมโมแกรม และ / หรือ อัลตร้าซาวด์เต้านมเพื่ออายุมากกว่า 40 ปี

“มะเร็งเต้านม สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น”


รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์
ประธานกลุ่มมะเร็งเต้านม
สถานวิทยามะเร็งศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
อาการ
   ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการของการคลําได้ก้อน ประมาน 90% แต่ก็อาจมีอาการอื่นๆที่พบได้อีกประมาณ 10 % ได้แก่ มีเลือดไหล ออกจากหัวนม คลําได้ก้อนที่รักแร้ หัวนมปุ่ม ในระยะแรก มะเร็งเต้านมอาจยังไม่ แสดงอาการ นอกจากนี้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคคือผู้ป่วยมักเข้าใจว่าจะมีอาการ เจ็บเต้านมซึ่งจริงแล้วส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บเต้านม

กลุ่มอายุ
   อายุที่พบบ่อยที่สุดคือ ช่วงอายุประมาณ 45-50 ปี และช่วงอายุ 70-75 ปี

ปัจจัยเสี่ยง
   1. เพศหญิง
   2. เพศหญิงที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจําเดือน
   3. เพศหญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
   4. เพศหญิงที่รับประทานหรือใช้สมุนไพรที่มีส่วนผสมของกราวหรือขาวนาน เกินความจําเป็น

แนวทางการป้องกัน
   1. การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเดือนละครั้ง หลังหมดประจําเดือน ประมาณ 1 สัปดาห์ ตั้งแต่อายุ 20-30 ปีขึ้นไป
   2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชําชาญปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี
   3. การตรวจเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) ปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี (สําหรับศูนย์ถันยรักษ์แนะนําให้มาทําการตรวจเอ็กซเรย์เต้านมตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากในระยะหลังพบว่ามีผู้หญิงไทยจํานวนมากที่เป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุยังน้อย การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงเป็นประโยชน์ต่อการตรวจพบและการรักษา) ทั้งนี้ การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มจะเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้

แนวทางการรักษา
   จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งเต้านมที่เป็นอยู่ โดยการรักษาหลักคือ การผ่าตัด นอกจากการผ่าตัดแล้วอาจทําการรักษาโดยการผ่าตัดร่วม กับการให้เคมีบําบัด การฉายรังสี ฯลฯ ซึ่งถ้าพบเนื้อร้ายหรือสิ่งผิดปกติได้เร็ว โอกาส ที่ผู้ป่วยจะหายขาดจากโรคมะเร็งเต้านมก็จะเพิ่มสูงขึ้น

ความรู้ที่สําคัญ
   มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบบ่อยในเพศหญิงหากได้รับการรักษา ในระยะแรก มีโอกาสหายขาดได้สูง ดังนั้นในเพศหญิงควรรับการเรียนรู้ฝึกฝนการ ตรวจเต้านมตนเองอย่างถูกต้องเป็นประจํา

ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การดูแลแผลหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม

   Q: การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบ่งเป็นรูปแบบใดบ้าง?
   A: การผ่าตัดมะเร็งเต้านมนั้นแบ่งได้เป็นสองส่วนหลักคือ
     1. การผ่าตัดเต้านม มีสามรูปแบบใหญ่คือ
       ก. ตัดเต้านมทั้งหมด
       ข. ตัดเต้านมบางส่วน
       ค. ตัดเต้านมพร้อมกับการเสริมสร้างเต้านมใหม่
     2. การผ่าตัดต่อมน้ําเหลืองรักแร้ มีสองรูปแบบคือ
       ก. ตัดต่อมน้ําเหลืองทั้งหมด
       ข. ตัดต่อมน้ําเหลืองบางส่วน (เซนติเนล)

   Q: มีวิธีดูแลแผลผ่าตัดอย่างไร?
   A: โดยทั่วไปแผลผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ําเหลือง จะเย็บด้วยไหมละลาย ถือเป็นแผล ปิดสมบูรณ์ ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แผลสามารถสัมผัสน้ําได้ หรือหากปิดด้วยวัสดุปิดแผลกันน้ํา ผู้ป่วยสามารถอาบน้ําได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด

   Q: ต้องบริหารกันข้อไหล่ติดหรือไม่?
   A: แนะนําให้บริหารกันข้อไหล่ติด ซึ่งสามารถเริ่มทําได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัดและ ทําต่อเนื่องได้ แต่ในผู้ป่วยบางราย เช่น ได้รับการผ่าตัดใส่ถุงเต้านมเทียมหรือใช้ กล้ามเนื้อหลังในการเสริมสร้างเต้านม อาจเริ่มการบริหาร 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด

   Q: จะป้องกันภาวะแขนบวมได้อย่างไร
   A: แขนบวมหลังการผ่าตัดต่อมน้ําเหลืองมีโอกาสเกิดน้อย มักพบร่วมกับการฉาย แสงบริเวณรักแร้ อย่างไรก็ดีสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดแผล หรือการติดเชื้อบริเวณมือและแขน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทําหัตถการบริเวณแขน ข้างนั้น นอกจากนี้การบริหารและยกแขนสูง ก็สามารถลดการบวมได้เช่นกัน แต่ หากผู้ป่วยเริ่มมีภาวะแขนบวม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคําแนะนําในการรักษา

   Q: การเลือกเสื้อชั้นในหลังผ่าตัด ?
   A: ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถสวมใส่เสื้อชั้นในได้ตามปกติ อาจเลือกเสื้อชั้น ในที่มีความกระชับและยืดหยุ่น ในกรณีที่มีการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมเทียม อาจ ใช้เสื้อชั้นในที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด

   Q: อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์?
   A: โดยปกติหลังผ่าตัดศัลยแพทย์จะนัดทุกสัปดาห์เพื่อตรวจแผล และอาจเจาะ ระบายน้ําเหลืองบริเวณแผลหากมีปริมาณมาก แต่ถ้าบริเวณแผลหรือแขนมี ลักษณะอักเสบ ปวด บวม แดง มีไข้สูง แนะนําให้พบแพทย์ก่อนนัด

   Q: ยาและอาหารที่แนะนํา?
   A: สามารถทานยาที่รักษาโรคประจําตัวได้ตามเดิม ยกเว้น ยากันแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านเกร็ดเลือด ควรเริ่มทาน 1 วันหลังผ่าตัดหรือเมื่อแพทย์อนุญาต แนะนําทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด พร้อมทั้งงดสูบบุหรี่ และดื่มสุราโดยเด็ดขาด

อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

สถานวิทยามะเร็งศิริราช

อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 13 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700