มะเร็งลําไส้ใหญ่



   โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งของระบบทางเดิน อาหารที่พบได้บ่อย ทั้งในเพศหญิงและชาย โดยเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดใน 5 อันดับแรกของมะเร็งทุกชนิดรวมกันและยังเป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายสูงในอันดับต้นๆ เช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่
   ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ ใดๆ จนเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น จนมีขนาดพอสมควร จึงก่อให้เกิดอาการเริ่มต้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องเสียหรือท้องผูกอย่างไม่มีเหตุผล ซีดอันสืบเนื่องมาจากการเกิดแผล และมีเลือดออกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ถ่ายกะปริดกะปรอย ปวดเบ่งหรือมี ความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา บางครั้งก้อนอาจมีขนาดใหญ่มากจนสามารถ คลําก้อนที่หน้าท้องได้ด้วยตนเอง และเมื่อก้อนลุกลามจนอุดกั้นทางเดินอุจจาระของ ลําไส้ใหญ่ ก็จะส่งผลให้เกิดการตีบตัน จนไม่สามารถถ่ายอุจจาระหรือผายลมได้ หาก มิได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ลําไส้อาจแตกทะลุได้

จะมีวิธีการตรวจหาว่าเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ได้อย่างไร
   การตรวจอย่างง่าย เช่น การตรวจหาการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ เป็นการตรวจ สุ่มเบื้องต้น อัน เป็นที่นิยม และหากพบผลบวกที่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของเลือดในอุจจาระ แพทย์ จะส่องกล้องตรวจเยื่อบุผนังลําไส้ใหญ่ภายในว่ามีแผล ตุ่มผิดปรกติ หรือก้อนเนื้องอก อยู่หรือไม่ พร้อมทั้งสามารถเก็บชิ้นเนื้อขนาดเล็ก เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ อันเป็นการยืนยันการวินิจฉัย และเป็นข้อมูลประกอบการ วางแผนการรักษาต่อไป การตรวจพิเศษทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจช่องท้องหรือ ทรวงอกด้วยเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการช่วยประเมินตําแหน่งของก้อนเนื้องอก ก่อนการผ่าตัด รวมทั้งระยะการลุกลามของโรค ว่ามีต่อมน้ําเหลืองโต หรือโรค กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ตับ และปอดหรือไม่ ส่วนการตรวจเลือด เป็นการ ประเมินสภาพความพร้อมของร่างกาย อีกทั้งการตรวจค่าโปรตีนบางชนิด เช่น ค่าซีอีเอ (CEA ย่อมาจาก carcinoembryonic antigen) ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือ ติดตามหากมีการกลับเป็นซ้ําของโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ภายหลังการผ่าตัดได้

การรักษาโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่มีวิธีใดบ้าง
   การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักของ โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเปิดแผลแบบดั้งเดิม หรือการผ่าตัดผ่าน การส่องกล้อง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ลดความเจ็บปวด บาดแผลขนาดเล็กลง และใช้เวลา พักฟื้นที่สั้นกว่า นอกจากนั้น ยังมีการให้ยาเคมีบําบัดและการให้รังสีรักษา ซึ่ง เป็นการรักษาเสริม ก่อนหรือหลังการผ่าตัด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป

โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันหรือไม่
   จากการศึกษา พบว่า โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนมากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ พฤติกรรมการบริโภค ได้แก่ การกินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง ปริมาณเส้นใยอาหารต่ํา ร่วมกับการออกกําลังกายน้อย มีดัชนีมวลกายสูงกว่าปรกติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึงนับเป็นความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ลําไส้ใหญ่ ในขณะที่โรคมะเร็งลําไส้ใหญ่น้อยกว่าร้อยละ 5 ที่เกิดมาจากปัจจัยการ ถ่ายทอดหรือโรคทางพันธุกรรม การป้องกันโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่จึงกระทําได้ ด้วย การบริโภคอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารสูง ประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยง อาหารที่มีไขมันสัตว์ รวมทั้งหมั่นออกกําลังกายเป็นประจํา และหากมีความเสี่ยง เช่น มีบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวจํานวน 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่ ควรปรึกษา แพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมต่อไป



อ.ดร.นพ.วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

สถานวิทยามะเร็งศิริราช

อาคารเฉลิมพระเกียรติชั้น 13 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700